วันฉัตรมงคล

Last updated: 24 ม.ค. 2567  |  643 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วันฉัตรมงคล

ประวัติ "วันฉัตรมงคล"
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือน พ.ค.) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ

รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พ.ค.2394 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล"

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธที่ 11 พ.ย.2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4 ต่อมา ในปีต่อมาพระราชพิธีฉัตรมงคลถูกย้ายจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า "การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร" มีการจัดพระราชพิธีรวม ๔ วัน

 

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 คราว คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 11 พ.ย.2453 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 28 พ.ย.2454

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 ก.พ.2468

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พ.ค. เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีของไทย หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันที่ 5 พ.ค. เป็นวันฉัตรมงคล

พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค
ในพระราชพิธีฉัตรมงคล จะมีพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่

พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร "พระมหาวิเชียรมณี" ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์
พระแสงขรรค์ชัยศรี หรืออาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย
ธารพระกร ซึ่งทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
วาลวิชนี หมายถึงพัดใบตาลปิดทองและแส้ขนจามรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย
ฉลองพระบาทเชิงงอน หรือรองเท้าที่พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
ที่มา : สำนักพระราชวัง, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้